Print

วันนี้ทีมข่าวอีตุ๊กตุ๊กนิวส์ มีโอกาสได้คุยกับคุณอนันต์ยชญ์ สุภัทรวณิช ประธานกรรมการ บริษัท ไทย ตุ๊ก ตุ๊ก มอเตอร์ จํากัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถตุ๊กตุ๊กรายใหญ่รายหนึ่งของไทย คุณอนันต์ยชญ์ หรือที่ทีมข่าวเราขอเรียกว่า “เฮียอนันต์” ผู้ที่อยู่กับอุตสาหกรรมรถตุ๊กตุ๊กในประเทศไทยมาอย่างยาวนานที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งพวกเราจะเห็นในสื่อทีวี หรือ บทสัมภาษณ์ต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง เราจะมารับฟังมองมุมเกี่ยวกับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าในประเทศไทยและทิศทางของบริษัท ไทยตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ ในบทบาทใหม่ที่มีการปรับตัวด้านเทคโนโลยี

• ความเป็นมาของไทยตุ๊กตุ๊ก

ก่อนจะเข้าเรื่องเราขอให้เฮียอนันต์แนะนำประวัติของบริษัทและจุดเริ่มต้นของการเข้ามาในธุรกิจรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า เฮียอนันต์เล่าให้เราฟังว่า ก่อนที่จะมาเป็นบริษัทผลิตรถตุ๊กๆ อย่างทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นจากเดิมทางครอบครัวทำธุรกิจขายอะไหล่รถสามล้อที่มีการส่งขายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ร้านใหม่อยู่ที่วงเวียนใหญ่ ในชื่อ ล้อเซ่งฮวดอะหลั่ย ซึ่งชาวสามล้อจะรู้จักกันดี ปัจจุบันย้ายไปอยู่สามแยกบ้านแขก โดยในสมัยนั้นประเทศไทยไม่มีบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนรถตุ๊กตุ๊กในประเทศเหมือนในปัจจุบันนี้ เวลาซ่อมเปลี่ยนอะไหล่ก็จะมีปัญหาตามมา จุดนี้เองทำให้เฮียอนันต์หันให้ความสนใจเกี่ยวกับการผลิตรถและชิ้นส่วนอะไหล่รถตุ๊กตุ๊ก และค่อยๆ ขยายและพัฒนากิจการก่อตั้งเป็นบริษัทผลิตอะหลั่ยและรถตุ๊กตุ๊กทั้งคัน ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทย ตุ๊ก ตุ๊ก มอเตอร์ จํากัด เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2526 และผลิตรถตุ๊กตุ๊กส่งออกเป็นรายแรกๆ ของประเทศจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อเชื้อเพลิงราคาแพง รถตุ๊กตุ๊กก็หันมาเปลี่ยนเป็นใช้แก๊ส ซึ่งทางบริษัทก็ออกแบบถังแก็สที่ใช้กับรถตุ๊กตุ๊กรายแรกๆ และปัจจุบันรถตุ๊กตุ๊กก็ยังใช้ดีซายน์นี้กัน และเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เฮียอนันต์ก็มีความสนใจเรื่องรถยานยนต์ไฟฟ้า น่าจะเรียกว่าคนแรกๆ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้วยตัวเอง และจะร่วมลงทุนผลิตกับบริษัทอเมริกัน แต่การเจรจาธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ และประกอบกับราคาชิ้นส่วนต่างๆ ก็ไม่พร้อมเหมือนตอนนี้ เรียกได้ว่ามาก่อนกาล และเสียเงินไปมากพอสมควร จากตรงนั้นทำให้มีความสนใจ เมื่อถึงวันนี้เทคโนโลยียานยนต์จะไปทางไฟฟ้า และภาครัฐก็สนับสนุนมากกว่าแต่ก่อนมาก จึงอยากเห็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเกิดขึ้นจริงๆ


“บางคนบอกผมว่ามาทำทำไม ผมรักตุ๊กตุ๊ก และโตมากับตุ๊กตุ๊ก ดังนั้นจึงอยากเห็น อยากทำให้เกิดขึ้นจริง ผมอยากจะลงทุนทำระบบที่ครบวงจร ทั้งรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า สถานีชาร์จ บัตรสมาชิก ให้เป็นตัวอย่าง โดยจะเลือกเชียงใหม่เป็นต้นแบบ และจังหวัดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ ทำคันสองคัน มันจะไม่เกิด”

• รถตุ๊กๆ ไฟฟ้า มีข้อดีตรงไหน

เฮียอนันต์ชี้ว่ารถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าไม่มีมลพิษ ลดการเกิดมลภาวะในสังคม ประหยัดเชื้อเพลิงให้กับผู้ใช้งาน แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาล เพื่อให้เกิดขึ้นได้จริง

• ปัจจุบันบริษัทมีรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ากี่รุ่น กลุ่มลูกค้าเป็นใคร

เฮียอนันต์บอกกับเราว่า ตอนนี้มีรถอยู่ 13 รุ่น โดยเป็นรถที่ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตและประกอบขึ้นในไทยทั้งหมดภายใต้การดูแลของบริษัท สามารถชาร์จไฟบ้านธรรมดาขนาด 15 A ได้ มีแบตเตอรี่ให้เลือกทั้งแบบตะกั่วกรด และแบบลิเธียมตามความต้องการของลูกค้า ระยะเวลาการชาร์จขึ้นอยู่กับชนิดของแบตเตอรี่ (ตะกั่วกรดระยะการชาร์จไฟ 6-8 ชั่วโมง แบตเตอรี่ ลิเธียม ระยะการชาร์จไฟ 1-2 ชั่วโมง)

เนื่องจากบริษัทมีทำธุรกิจด้านนี้มายาวนาน ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา และขณะนี้บริษัทกำลังขยายฐานลูกค้าไปยังจังหวัดที่เป็นแหล่งเที่ยวหลักๆ ในไทยอีกหลายแห่ง

• โมเดลของธุรกิจตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

เมื่อเราถามถึงแนวทางที่จะทำ เฮียอนันต์เล่าว่าจะเริ่มที่เชียงใหม่โดยทำระบบสมาชิก ที่ใช้รถของไทยตุ๊กตุ๊ก และสถานีชาร์จที่จุดสำคัญๆ ในเชียงใหม่ รถวิ่งมาชาร์จไฟได้ และเลิกงานก็นำรถมาจอดชาร์จที่สถานีได้

• จุดเด่นรถของบริษัทที่ทำให้ลูกค้าต้องมาซื้อคืออะไร

เนื่องจากบริษัทมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับรถตุ๊กตุ๊กมาอย่างยาวนานและเป็นที่ยอมรับในวงการ มีอะไหล่ครบครันพร้อมบริการ เน้นให้บริการหลังการขายที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าของบริษัท และจากประสบการณ์ที่ผ่านทำให้บริษัทเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้รถเป็นอย่างดีมั่นใจว่าจะทำให้ลูกค้าเกิดมีความพึงพอใจสูงสุด รถของไทยตุ๊กตุ๊กเน้นใช้มอเตอร์ และแบตเตอรี่ที่คุณภาพดี เพื่อให้วิ่งได้ระยะทางไกล และชาร์จได้เร็ว และดำเนินการแบบครบวงจร

ทีมข่าวอีตุ๊กตุ๊กนิวส์

ขอขอบคุณเฮียอนันต์ ท่านประธานกรรมการ บริษัท ไทย ตุ๊ก ตุ๊ก มอเตอร์ จำกัด เป็นอย่างมากค่ะ เฮียอนันต์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกลอย่าง และไม่เคยหยุดพัฒนา โดยการนำประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาต่อยอดจนประสบความสำเร็จ และเชื่อว่าไทยตุ๊กตุ๊กจะมีส่วนอย่างสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีรถตุ๊กตุ๊กในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอนค่ะ