อาคารธุรกิจมีการใช้ไฟฟ้าถึงร้อยละ 19 ของการใช้ไฟฟ้าของประเทศ และมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี และเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่ใช้ระบบปรับอากาศแบบใช้น้ำเย็น หรือ Chiller Plant มากกว่า 2,000 อาคาร

     การใช้พลังงานของอาคารขนาดใหญ่เหล่านี้ การใช้ไฟฟ้าร้อยละ 40-50 ใช้เพื่อการปรับอากาศ และมีค่าใช้จ่ายพลังงานต่อเดือนเป็นแสนบาทขึ้นไป แต่การใช้ระบบควบคุมที่ทันสมัยติดตามและบริหารจัดการยังมีอยู่น้อยมาก อาคารทันสมัยที่มีระบบควบคุมอาคารอัตโนมัติก็มักใช้งานในการมอนิเตอร์ หรือควบคุมการเปิดปิดอุปกรณ์ การใช้งานระบบที่สั่งการให้เกิดการประหยัดพลังงานในระบบผลิตน้ำเย็นมีน้อยมาก ระบบควบคุมการผลิตน้ำเย็น หรือที่พบในตลาดมักจะเป็นของผู้ผลิตเครื่องทำน้ำเย็น ซึ่งมักไม่มีการติดตั้งเนื่องจากราคาสูง และระบบที่พัฒนาในประเทศส่วนใหญ่ใช้งานเพียงควบคุมความเร็วรอบของปั๊มน้ำเย็นเท่านั้น จากการวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าว คณะวิจัยประเมินว่า เนื่องมาจาก

1. ระบบบริหารจัดการเครื่องทำน้ำเย็นของต่างประเทศราคาสูงมาก จึงไม่ได้รับความนิยม

2. ระบบบริหารจัดการเหล่านี้ใช้งานยาก ระบบมีความซับซ้อน ไม่สอดคล้องกับระบบเดินเครื่องทำน้ำเย็นทั่วไปในประเทศไทย

3. ระบบบริหารจัดการที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศ ไม่เข้าใจในการจัดการเดินเครื่องเพื่อการประหยัดพลังงาน (Plant Optimizer) และแบบจำลองของอุปกรณ์แต่ละตัว ซึ่งจะทำให้การพัฒนาโปรแกรมมีความซับซ้อน และยุ่งยากมากขึ้น จึงไม่ได้รวมความสามารถเหล่านี้ในอุปกรณ์

     ในทางวิชาการ การจัดการให้ระบบทำน้ำเย็นมีประสิทธิภาพสูง (Plant Optimizer) และการสร้างแบบจำลองอุปกรณ์ในระบบค่อนข้างแพร่หลาย และมีการศึกษาวิจัยค่อนข้างมากแล้วและเป็นที่ยอมรับ ประกอบกับอุปกรณ์เครื่องวัด เช่น ภาระทำความเย็น กำลังไฟฟ้า ระบบควบคุมราคาต่ำลงมาก อาทิ อุปกรณ์วัดอัตราการไหลของน้ำเย็นในราคาหลักแสนบาท ปัจจุบันราคาหลักหมื่นบาท แผงบอร์ดควบคุมราคาถูกมาก ดังนั้นความรู้ในการควบคุมและอุปกรณ์มีความพร้อม คณะวิจัยจึงเห็นว่า หากสามารถพัฒนาระบบบริหารจัดการการผลิตน้ำเย็นในราคาต่ำ (Low Cost) ใช้งานง่าย ยืดหยุ่นตามระบบของอาคาร และเป็น Open Software ผู้ทำระบบสามารถโหลดมาใช้งานได้ ร่วมกับอุปกรณ์เครื่องวัดราคาต่ำ จะทำให้การบริหารจัดการใช้งานเครื่องทำน้ำเย็นในอาคารเหล่านี้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จะทำให้ระบบดังกล่าวแพร่หลาย อาคารสามารถลงทุนในหลักไม่กี่หมื่นบาท เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในระบบปรับอากาศในหลักล้านบาทต่อปี 

รูปการพัฒนาระบบบริหารจัดการการผลิตน้ำเย็น

     มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงได้พัฒนาข้อเสนอโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการผลิตน้ำเย็นราคาต่ำและใช้งานง่ายนี้ขึ้น และเชื่อว่าระบบดังกล่าวจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารธุรกิจได้อย่างมาก

1. เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการผลิตน้ำเย็นที่ราคาต่ำและใช้งานได้ง่าย พร้อมระบบสนับสนุนขึ้น

2. เพื่อทดลองระบบกับอาคารจริง

3. เพื่อเผยแพร่ระบบให้อาคารธุรกิจรับทราบ และนำไปใช้งาน

ระยะเวลาดำเนินการศึกษา 12 เดือน นับตั้งแต่ 15 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562